ดีเดย์วันบังคับใช้กฎหมาย PDPA

กสม. แนะการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นต้องไม่มีเจตนาสร้างความเสียหาย หรือผลกระทบต่อเกียรติยศชื่อเสียงของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล และต้องไม่แสวงหาประโยชน์โดยไม่ได้รับความยินยอม

วันที่ 1 มิ.ย. 2565 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ กฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) อย่างเป็นทางการในวันนี้ ว่า หากพิจารณาเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว จะเห็นว่าเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล อันหมายถึงข้อมูลที่ทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรม ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้เทคโนโลยีในการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนและนำไปใช้ในทางที่กระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ตลอดจนชื่อเสียงและเกียรติยศจำนวนมาก และสามารถทำได้โดยง่าย การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ครอบครองข้อมูลนั้น นำข้อมูลของประชาชน ไปใช้ประโยชน์ หรือ ก่อให้เกิดความเสียหาย เดือดร้อนรำคาญ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล

สำหรับกรณีที่ประชาชนบางส่วนกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวอาจกระทบต่อสิทธิในการสื่อสาร การรับ ส่งต่อ หรือใช้ประโยชน์จากข้อมูล เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ และยังมีบทลงโทษทั้งทางแพ่ง อาญา และปกครองที่ค่อนข้างรุนแรงนั้น ขอให้พิจารณาและยึดหลักการสำคัญ คือเรื่องเจตนาในการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นไปใช้ ซึ่งจะต้องไม่มีเจตนาเพื่อสร้างความเสียหายหรืออับอาย หรือมีเจตนานำข้อมูลไปใช้เพื่อแสวงหาผลกำไร โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล

“กฎหมายฉบับนี้ถือว่าเป็นคุณต่อการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล มิให้ถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบที่อาจกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียงของเจ้าของข้อมูล หรือถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแสวงหาผลกำไรโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนคำนึงถึงเจตนาในการนำข้อมูลไปใช้เป็นสำคัญ” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
1 มิถุนายน 2565

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *