กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย, พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก, เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ. ปฏิบัติการทลายแหล่งผลิตเครื่องสำอางปลอมในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ตรวจยึดของกลาง 38 รายการ จำนวนกว่า 40,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท
พฤติการณ์: สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีมาตรการในการเฝ้าระวังเครื่องสำอางที่เป็นผลิตภัณฑ์ปลอม และไม่มีเลขจดแจ้ง เนื่องจากไม่ทราบถึงส่วนผสมและมาตรฐานการผลิต ซึ่งหากประชาชนซื้อไปใช้อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ และเกิดปัญหาต่อผิวและร่างกายในระยะยาว ประกอบกับได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้ทำการตรวจสอบสถานที่แห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.ชุมแพ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ว่ามีการลักลอบผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยส่งขายในพื้นที่ภาคอีสานเป็นจำนวนมาก
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ามีการลักลอบผลิตเครื่องสำอางในพื้นที่ดังกล่าวจริง โดยลักษณะเป็นบ้านพักอาศัยด้านในเปิดทำเป็นโรงงานผลิตและส่งขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลากหลายยี่ห้อ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงรวบรวมพยานหลักฐาน ขอศาลจังหวัดชุมแพ เพื่อขออนุมัติหมายค้น
ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดชุมแพ เข้าทำการตรวจค้นสถานที่ผลิต และจัดเก็บผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าว พบนางสาวจรรยา(สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี แสดงตัวเป็นผู้ดูแลสถานที่ดังกล่าว โดยขณะเข้าทำการตรวจค้นยังพบการลักลอบผลิตเครื่องสำอางอยู่ด้วยการกวนครีม และบรรจุลงตลับ เพื่อรอการส่งให้ลูกค้าตามออเดอร์ อีกทั้ง ภายในบ้านดังกล่าว ยังพบเครื่องจักร เช่น เครื่องปั๊มสกรีนฉลาก เครื่องหุ้มพลาสติก เครื่องซีลกล่องผลิตภัณฑ์ เครื่องยิงเลเซอร์ วัน เดือน ปี ที่ผลิต และเครื่องอบลมร้อน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า สถานที่ผลิตดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตผลิตเครื่องสำอางจึงได้ตรวจยึดและอายัดของกลาง ได้แก่
1. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ครีมโสมขมิ้นดำ ยี่ห้อ เฌอริต้า จำนวน 17,600 กล่อง
2. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง บียอนด์ โกลด์ มาส์ก จำนวน 13,200 กล่อง
3. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง SAKU Ginseng Cream จำนวน 1,440 กล่อง
4. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ฮา-ยัง เซรั่ม จำนวน 400 กล่อง
5. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง พิงค์ โกลด์ มาส์ก จำนวน 1,260 กล่อง
6. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Super Serum Brownychu จำนวน 1,200 กล่อง
7. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Super Serum เซรั่ม ลดฝ้า กะ รอยเหี่ยวย่น จำนวน 5,000 ซอง
8. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง PURE Skincare สกินบูสเตอร์ โกลด์ เซรั่ม จำนวน 38 กล่อง
9. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Brownychu BC Super White Cream จำนวน 300 กล่อง
10. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Pure เซรั่ม จำนวน 2,000 ขวด
11. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง P aura By Sangarun จำนวน 9 กล่อง
12. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ออร่าไนท์ ไวท์เทนนิ่ง(ตลับสีทอง) จำนวน 1,200 ตลับ
13. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ออร่าไนท์ ไวท์เทนนิ่ง(ตลับสีเทา) จำนวน 1,500 ตลับ
14. ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางคละสีบรรจุในถึงพลาสติก จำนวน 200 กิโลกรัม
15. เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เช่น เครื่องปั๊มสกรีนฉลาก เครื่องหุ้มพลาสติก เครื่องซีลกล่องผลิตภัณฑ์ เครื่องยิงเลเซอร์ วัน เดือน ปี ที่ผลิต เครื่องอบลมร้อน วัสดุอุปกรณ์ และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต รวมทั้งฉลาก และบรรจุภัณฑ์อื่นๆ หลายรายการ
รวมตรวจยึดของกลางจำนวน 38 รายการ มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก. ปคบ. ดำเนินคดี
จากการสืบสวนเพิ่มเติม พบว่าสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้ผลิตเครื่องสำอางแต่อย่างใด โดยจะลักลอบผลิต และส่งสินค้าให้ลูกค้าตามออเดอร์ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งลูกค้าจะเป็นผู้เข้ามารับเอง หรือจัดส่งให้ตามที่ลูกค้าแจ้ง โดยทำมาแล้วประมาณ 1 ปี โดยผู้ผลิตรับว่าไม่มีความรู้ด้านเคมี หรือการผลิตเครื่องสำอางแต่อย่างใด
อนึ่งจากการตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์ทั้ง 13 ยี่ห้อ มีเลขจดแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ผลิตถูกต้อง และมีขายตามท้องตลาด แต่ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดในครั้งนี้ ถูกผลิตในสถานที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามที่ขออนุญาตไว้ และไม่ได้มาตรฐาน จึงเข้าข่ายเป็นการผลิตเครื่องสำอางปลอม ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าปลอมทั้งหมด อยู่ระหว่างติดต่อให้บริษัทหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ตรวจสอบและยืนยันเพิ่มเติม โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึด พนักงานสอบสวนจะส่งผลิตภัณฑ์ตรวจพิสูจน์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หากพบวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง จะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง ฐาน “ผลิตและขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้” ผู้ผลิตระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ขายระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
เบื้องต้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
1. ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
3. ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางปลอม” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทางสื่อออนไลน์ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น สิวฝ้า กระ หายในเวลาสั้นๆ หน้าขาวขึ้นภายใน 7 วัน เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นเครื่องสำอางที่พบสารห้ามใช้ ได้แก่ ไฮโดรควิโนน ปรอท และกรดเรทิโนอิก ให้เพิ่มความระมัดระวังและไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ควรตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน อย่าหลงเชื่อและซื้อ เพียงเพราะเห็นแก่ราคาสินค้าที่ถูกกว่าท้องตลาด หรือการอวดอ้างสรรพคุณที่ให้ผลเกินจริง เช่น ขาวไว ผอมเร็ว เป็นต้น และควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม และยาที่ถูกเกินกว่าปกติ ให้ระลึกไว้เสมอว่าท่านกำลังเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการโฆษณาและได้ของปลอม ของไม่มีคุณภาพ ใช้แล้วอาจเกิดอาการแพ้ และต้องสุญเสียเงินเพื่อรักษาผิว และสุขภาพในระยะยาว และขอเน้นย้ำกับผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลาย ว่าอย่านำสินค้าที่ผิดกฎหมายมาจำหน่ายหรือหลอกลวงผู้บริโภคโดยเด็ดขาด หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา